กุมภาพันธ์ เดือนแห่งความรัก ที่ความเชื่อแบบคริสตชนสอนให้“รักเพื่อนมนุษย์เหมือนรักตนเอง” และจันทร์เสวยมาฆฤกษ์ เป็นวันที่พระพุทธเจ้าแสดง“โอวาทปาติโมกข์” คำสอนที่เป็นหัวใจของพุทธศาสนาแก่พุทธสาวก และปรากฎการณ์สำคัญที่เรียกว่า “จาตุรงคสันนิบาต”
แต่ดูเหมือนประเทศไทยกำลังก้าวสู่บรรยากาศของความตึงเครียด มากกว่าบรรยากาศของความรักและธรรมปฏิบัติ ที่สงบเย็น สันติและเบิกบาน
เหตุการณ์ชุมนุมในประเทศของกลุ่ม “พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย”
กับกลุ่ม “เครือข่ายคนไทยหัวใจรักชาติ”ที่ออกมาเรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีและรัฐบาลทำหน้าที่ปกป้องแผ่นดิน และกลุ่ม “คนเสื้อแดง หรือ นปช.” (ซึ่งนัดหมายว่าจะชุมนุนกัน 19 ก.พ.2554) เหตุการณ์ความขัดแย้งระหว่างประเทศกับเขมรถึงขั้นปะทะกันในรูปแบบสงครามย่อยๆ และปรากฏการณ์สินค้าราคาแพงที่กำลังทวีความรุนแรง และสร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนที่มีรายได้น้อยจำนวนมากทั้งประเทศ
สถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับประเทศไทยในเวลานี้ ย่อม“สะท้อนถึงเหตุปัจจัย” อันเป็นที่มาเป็นของเหตุการณ์ทั้งปวงที่อุบัติขึ้น
ประการ หนึ่ง ย่อมส่อสะท้อนถึง “ความไม่เอาไหนของรัฐบาล”ในด้านการเมืองการปกครอง ที่ไม่สามารถทำให้รัฐและประชาชน รวมกันเป็นหนึ่งเดียว ภายใต้ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขได้ แม้เวลาจะล่วงเลยมาแล้ว 2 ปี
และไม่สามารถดำเนินนโยบายสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะกับประเทศเขมร ซึ่งเป็น “คู่กัด”มาตั้งแต่เริ่มต้นรัฐบาลอภิสิทธิ์1 ทำให้ภาพความล้มเหลวของการเมืองระหว่างประเทศกำเริบชัดขึ้น จากสถานการณ์สงครามชายแดนไทย-กัมพูชา
ประการ หนึ่ง ย่อมส่อสะท้อนถึง “ความไม่เอาไหนของรัฐบาล”ในด้านการบริหารเศรษฐกิจและการค้าในประเทศ แม้ว่าตัวเลขการส่งออกจะดีอย่างต่อเนื่อง แต่ในประเทศกลับเกิดภาวะสินค้าอุปโภคบริโภคราคาแพง สินค้าและผลผลิตการเกษตรขาดแคลน ตัวเลขเงินเฟ้อและค่าครองชีพมีแนวโน้มปรับตัวพุ่งสูงขึ้นจากภาวะน้ำมันแพง และสินค้าราคาแพง
ประการหนึ่ง ย่อมส่อสะท้อนถึง “ความไม่เอาไหนของรัฐบาล” ด้าน ธรรมาภิบาล หรือการบริหารกิจการบ้านเมืองและสังคมที่ดี ทำให้ปัญหาสาธารณะกลายเป็นระเบิดแสวงเครื่องในสังคมไทย ที่พร้อมจะระเบิดปัญหาความเดือดร้อนและผลกระทบต่อคุณภาพชีวิต สวัสดิการและความเป็นอยู่ที่ดีของประชาสังคมไทย ให้พังพินาศได้ทุกเมื่อ
เมื่อรัฐบาลไม่เอาไหน“เหตุปัจจัยเอก”ประการสำคัญที่เป็น “เหตุแห่งทุกข์”แท้จริง จึงพุ่งเป้าไปที่ “นักการเมือง” ที่เล่นบท “รัฐมนตรี”และ “นายกรัฐมนตรี”ที่ใช้อำนาจการบริหารรัฐกิจ และปกครองประเทศ อย่างหลีกเลี่ยงความรับผิดชอบไม่ได้
แต่หนทางและประเด็นของการดับทุกข์ เพื่อเรียกความรักความสามัคคี ความสงบสันติสุขของรัฐชาติ ของรัฐบาลและนักการเมือง กลับชี้เป้าพุ่งปากกระบอกปืนไปที่ประชาชนเพียงฝ่ายเดียวกระนั้นหรือ?
ทั้งๆที่ “โอวาทปฏิโมกข์”บ่มสอนให้ “ดับทุกข์...ที่เหตุแห่งทุกข์” และ เหตุสำคัญแห่งทุกข์อยู่ที่ “นักการเมืองและรัฐบาล”
THANYA101@HOTMAIL.COM