วันพฤหัสบดีที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

เพื่อความสวัสดีแห่งชีวิต โดย ท่าน ว.วชิรเมธี

สวัสดีค่ะ วันนี้ขออนุญาตนำแง่คิดดีๆ มาแบ่งปันฝากกันอ่านเล่นๆ ยามที่สถานการณ์บ้านเมืองยังไม่ปลอดโปร่งสดใสในหัวข้อ

"เพื่อความสวัสดีแห่งชีวิต" โดย ท่าน ว.วชิรเมธี

สิ่งที่เธอควรมี "สติปัญญา"

สิ่งที่เธอควรอดทน "การดูหมิ่น"

สิ่งที่เธอควรแสวงหา "กัลยาณมิตร"

สิ่งที่เธอควรได้ยิน "พุทธธรรม"

สิ่งที่เธอควรคิด "ความดีงาม"

สิ่งที่เธอควรจดจำ "ผู้มีคุณ"

สิ่งที่เธอควรพยายาม "การศึกษา"

สิ่งที่เธอควรเทิดทูน "สถาบันพระมหากษัตริย์"

สิ่งที่เธอควรเข้าหา "นักปราชญ์"

สิ่งที่เธอควรขจัด "ความเห็นแก่ตัว"

สิ่งที่เธอควรฉลาด "การเข้าสังคม"

สิ่งที่เธอควรเลิกเมามัว "การพนัน"

สิ่งที่เธอควรนิยม "ความซื่อสัตย์"

สิ่งที่เธอควรสร้างสรรค์ "สัมมาชีพ"

สิ่งที่เธอควรตัด "อกุศลมูล"

สิ่งที่เธอควรเร่งรีบ "การแทนคุณบุพการี"

สิ่งที่เธอควรเพิ่มพูน "บุญกุศล"

สิ่งที่เธอควรปฏิบัติหน้าที่ "ทำวันนี้ให้ดีที่สุด"

แล้วคุณได้ทำสิ่งที่ควรแล้วหรือยังค่ะ? ส่งเรื่องราวในชีวิตของคุณมาเล่าสู่กันฟังบ้างซิค่ะ ฝนที่ตกอยู่ทางโน้น หนาวถึงคนทางนี้ ก็ยังอยากจะได้ยินทุกเรื่องราว...(ฮ่า ฮ่า พี่เบริด์มาตั้งแต่เมื่อไรคะเนี่ย) Kiss

สมัครมาเป็นสมาชิก "ผู้สื่อข่าวประจำบล็อคกันซิคะ

"แบ่งปันประสบการณ์-ข่าวสารดี ๆ ให้แก่กันและกัน

ขอขอบคุณ

http://www.okkid.net
อ่านต่อ >>

วันอังคารที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

ขบวนการ 'ล้มเจ้า'และ 'ความขัดแย้ง'ที่ยังอยู่

ถึงแม้ว่าสถานการณ์ความรุนแรงทางการเมือง จะคลี่คลายและดูสงบลงชั่วคราว แต่ก็มิได้หมายความว่า ปัญหาความขัดแย้งและความรุนแรงจะหดหายไปอย่างสิ้นเชิงจากสังคมและการเมืองไทย
เช่นเดียวกับ “ขบวนการล้มเจ้า”ที่ยังคงดำรงอยู่อย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นระบอบประชาธิปไตยในปี พ.ศ.2475 จวบจนปัจจุบัน
หากย้อนกลับไปศึกษาประวัติศาสตร์ ในวันที่คณะราษฎรทำการปฏิวัติยึดอำนาจการปกครองจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ประกาศแถลงการณ์ของคณะราษฎร ฉบับที่ 1 ที่พันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา อ่านในวันที่ 24 มิถุนายน 2475 เวลาย่ำรุ่ง(6 นาฬิกาตรง) บริเวณหน้าพระที่นั่งอนันตสมาคม ซึ่ง รศ.ดร.นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ คณบดีคณะรัฐศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า(2549) ...มีข้อสังเกตว่า ข้อความในหนังสือกราบบังคมทูลที่มีเนื้อความค่อนข้างรุนแรง แตกต่างจาก “ประกาศคณะราษฎร ฉบับที่ 1” ...ที่ระบุว่า
“หากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงปฏิเสธ คณะราษฎรก็จะจัดให้มีการปกครองแบบประชาธิปไตย โดยที่ประมุขของประเทศจะเป็นบุคคลสามัญ ซึ่งสภาผู้แทนราษฎรได้เลือกขึ้น ตามนัยแล้วก็คือ การปกครองแบบ “สาธารณรัฐ” นั่นเอง”
แต่เป็นความโชคดีของคนไทย ที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งในขณะนั้นทรงประทับอยู่ ณ พระราชวังไกลกังวล หัวหิน ประจวบคีรีขันธ์ เมื่อทรงทราบข่าวก็ทรงได้ประชุมกับพระบรมวงศานุวงศ์ และข้าราชการชั้นผู้ใหญ่แล้ว และทรงตัดสินพระราชหฤทัย โดยเห็นแก่ประเทศและความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง จึงทรงยินยอมเป็นพระเจ้าแผ่นดิน “ตาม”พระธรรมนูญ โดยทรงตอบในพระราชหัตถเลขาฉบับเดียวกันที่คณะราษฎรกราบบังคมทูลอัญเชิญให้พระองค์กลับพระนคร เป็นกษัตริย์ “ใต้” ธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน ทั้งที่ผู้ถวายความเห็นส่วนใหญ่เชื่อว่าจะสามารถเอาชนะคณะราษฎรได้ไม่ยาก หากพระองค์จะตัดสินพระทัยต่อสู้
ซึ่งประเด็นความแตกต่างระหว่าง “ใต้” กับ “ตาม”พระธรรมนูญปกครองแผ่นดิน หรือรัฐธรรมนูญ ถือว่ามีนัยยะทางการเมืองที่สำคัญมาก (นครินทร์ เมฆไตรรัตน์, 2549)
ธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราวของคณะราษฎร ได้ลดทอนพระราชอำนาจลงไปมาก จนพระองค์เป็นเพียงสัญลักษณ์ของประเทศเท่านั้น แม้แต่การเรียกพระองค์ก็ใช้คำว่า “กษัตริย์” แทนที่จะใช้คำว่า “พระมหากษัตริย์”
ขบวนการเหล่านี้ยังคงเกาะติดและปรับตัวให้ผสมกลมกลืนกับการเปลี่ยนแปลง แฝงตัวอยู่ในโครงสร้างอำนาจ วิถีชีวิต พรรคการเมือง สถาบันการเมืองและแนวคิดประชาธิปไตยแบบสาธารณรัฐสุดโต่ง และแผลงฤทธิ์ทุกๆครั้งที่การเมืองและประเทศอ่อนแอ เหมือนเชื้อไวรัส(เริม)ที่ฝังตัวอยู่ในปมประสาท ไม่เคยหมดสิ้นไปจากสังคมไทย
หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 มีการรัฐประหารครั้งแรก โดยพระยามโนปกรณ์นิติธาดา(1 เม.ย.2476)และครั้งที่สอง ในวันที่ 20 มิถุนายน 2476 พันโทหลวงพิบูลสงครามได้ทำรัฐประหารล้มรัฐบาลพระยามโนปกรณ์นิติธาดา
การรัฐประหารของหลวงพิบูลสงคราม ทำให้คณะราษฎรกลับคืนสู่อำนาจอย่างมั่นคง และใช้อำนาจเบ็ดเสร็จที่ก่อให้เกิดความกดดันต่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยตรง
ที่สำคัญ เมื่อเหตุการณ์ดำเนินมาถึงคราวที่พระองค์ ต้องทรงเผชิญหน้ากับคณะราษฎรในการเรียกตัวหลวงประดิษฐ์มนูธรรมกลับจากประเทศฝรั่งเศส ซึ่งคณะรัฐมนตรีและสภาผู้แทนราษฎรต่างก็เห็นชอบให้เรียกตัวหลวงประดิษฐ์มนูธรรมกลับด้วย
พระองค์ยังทรงขัดข้อง และทรงปฏิเสธที่จะรับรองตัวหลวงประดิษฐ์มนูธรรม เนื่องจากพระองค์ยังไม่สิ้นความสงสัยว่า หลวงประดิษฐ์มนูธรรมจะไม่ใช้วิธีการเศรษฐกิจแบบ “โซเซียลิสต์อย่างแรง” ซึ่งหมายถึงวิธีการคอมมิวนิสต์แบบรัสเซีย นั่นเอง
ประเด็นนี้เองที่ ผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมืองปัจจุบัน ต่างหวั่นเกรงว่า ประวัติศาสตร์จะวนกลับมาในท่วงทำนองเดิม แม้ว่าตัวบุคคล แนวคิดและวิธีการทางเศรษฐกิจจะเปลี่ยนไปคนละทางกับอดีต
นอกจากนี้เหตุการณ์ “กบฏบวรเดช”ในปี พ.ศ.2476 ที่ทั้ง “รัฐบาล”ของคณะราษฎร ซึ่งมีพระยาพหลพลพยุหเสนา เป็นนายกรัฐมนตรี กับ “คณะกู้บ้านเมือง”ซึ่งเกิดจากการรวมตัวกันของบรรดาบุคคลที่ไม่พอใจจากการถูกปลดออกจากราชการโดยคณะราษฎรส่วนหนึ่ง กับพระบรมวงศานุวงศ์บางพระองค์ที่ต้องการกอบกู้เกียรติของความเป็นเจ้ากลับคืนมาอีก ปะทะกันอยู่นานถึง 14 วันและต่างก็พยายามช่วงชิงการสนับสนุนจากพระมหากษัตริย์ แต่ก็ไม่เป็นผลทั้งสองฝ่าย
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ตัดสินพระราชหฤทัยเสด็จโดยเรือเร็วขนาดเล็กจากหัวหินลงไปสงขลา เพื่อหลีกเลี่ยงความเข้าใจผิดว่าทรงอยู่กับฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด และขณะประทับที่สงขลา สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯซึ่งประทับอยู่ด้วย ทรงเล่าถึงเหตุการณ์คืนหนึ่งว่า
“คืนนั้นในหลวง ฉัน แล้วก็ ม.ร.ว.สมัครสมาน ขึ้นไปอยู่บนชั้น 3 ด้วยกัน ท่านรับสั่งว่า ถ้าจะมีเรื่องเกิดขึ้น ท่านก็จะยิงพระองค์เอง แล้วให้สมัครเป็นคนยิงฉัน ส่วนสมัครจะทำอะไรกับตัวเองหรือไม่ก็ช่าง...” (นครินทร์ เมฆไตรรัตน์, 2549)
ขณะที่เขียนบทความนี้ ยังไม่แน่ใจนักว่าสถานการณ์ของบ้านเมืองและการเมืองไทย ในห้วงเวลาต่อจากนี้ไป จะดำเนินไปอย่าง จะเกิดอะไรขึ้นบ้างในอนาคต จะวนเวียนซ้ำซากเหมือนในอดีตหรือไม่
แต่ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมากว่า 60 ปี ผมคิดว่าปวงชนชาวไทยทุกคน มีความตระหนักดีว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช มหาราช ทรงปกครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม ตามพระปฐมบรมราชโองการ พระองค์ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณอย่างใหญ่หลวงต่อปวงชนชาวไทย ทรงทำให้บ้านเมืองมีความร่มเย็น ทรงทำให้พสกนิกรทุกหมู่เหล่ามีอยู่มีกินอย่างพอเพียง ทรงทำให้ประเทศไทยมีความเป็นปึกแผ่น เป็นประเทศประชาธิปไตยที่สามารถผสมผสานหลักการใหม่ๆ และหลักคุณธรรมให้เป็นที่ยอมรับของนานาอารยประเทศ มาด้วยความเสียสละ อดทนและความรักที่ทรงมีต่อปวงชนชาวไทยทุกหมู่เหล่า
ผมมั่นใจครับว่าใครก็ตามที่เหิมเกริมเข้าพวกกัน “ก่อการร้าย” เหยียบย่ำทำลายชาติบ้านเมือง และพยายามจะล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์ หรือตั้งใจจะทำให้พระองค์ต้องเสียพระราชหฤทัย จะต้องถูกปวงชนชาวไทยสาปแช่งและถูกต่อต้านอย่างถึงที่สุด ไม่มีวันได้เป็นใหญ่ในประเทศนี้แน่นอน
อ่านต่อ >>