วันอังคารที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ. 2553

ขบวนการ 'ล้มเจ้า'และ 'ความขัดแย้ง'ที่ยังอยู่

ถึงแม้ว่าสถานการณ์ความรุนแรงทางการเมือง จะคลี่คลายและดูสงบลงชั่วคราว แต่ก็มิได้หมายความว่า ปัญหาความขัดแย้งและความรุนแรงจะหดหายไปอย่างสิ้นเชิงจากสังคมและการเมืองไทย
เช่นเดียวกับ “ขบวนการล้มเจ้า”ที่ยังคงดำรงอยู่อย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นระบอบประชาธิปไตยในปี พ.ศ.2475 จวบจนปัจจุบัน
หากย้อนกลับไปศึกษาประวัติศาสตร์ ในวันที่คณะราษฎรทำการปฏิวัติยึดอำนาจการปกครองจากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ประกาศแถลงการณ์ของคณะราษฎร ฉบับที่ 1 ที่พันเอกพระยาพหลพลพยุหเสนา อ่านในวันที่ 24 มิถุนายน 2475 เวลาย่ำรุ่ง(6 นาฬิกาตรง) บริเวณหน้าพระที่นั่งอนันตสมาคม ซึ่ง รศ.ดร.นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ คณบดีคณะรัฐศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า(2549) ...มีข้อสังเกตว่า ข้อความในหนังสือกราบบังคมทูลที่มีเนื้อความค่อนข้างรุนแรง แตกต่างจาก “ประกาศคณะราษฎร ฉบับที่ 1” ...ที่ระบุว่า
“หากพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงปฏิเสธ คณะราษฎรก็จะจัดให้มีการปกครองแบบประชาธิปไตย โดยที่ประมุขของประเทศจะเป็นบุคคลสามัญ ซึ่งสภาผู้แทนราษฎรได้เลือกขึ้น ตามนัยแล้วก็คือ การปกครองแบบ “สาธารณรัฐ” นั่นเอง”
แต่เป็นความโชคดีของคนไทย ที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งในขณะนั้นทรงประทับอยู่ ณ พระราชวังไกลกังวล หัวหิน ประจวบคีรีขันธ์ เมื่อทรงทราบข่าวก็ทรงได้ประชุมกับพระบรมวงศานุวงศ์ และข้าราชการชั้นผู้ใหญ่แล้ว และทรงตัดสินพระราชหฤทัย โดยเห็นแก่ประเทศและความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง จึงทรงยินยอมเป็นพระเจ้าแผ่นดิน “ตาม”พระธรรมนูญ โดยทรงตอบในพระราชหัตถเลขาฉบับเดียวกันที่คณะราษฎรกราบบังคมทูลอัญเชิญให้พระองค์กลับพระนคร เป็นกษัตริย์ “ใต้” ธรรมนูญการปกครองแผ่นดิน ทั้งที่ผู้ถวายความเห็นส่วนใหญ่เชื่อว่าจะสามารถเอาชนะคณะราษฎรได้ไม่ยาก หากพระองค์จะตัดสินพระทัยต่อสู้
ซึ่งประเด็นความแตกต่างระหว่าง “ใต้” กับ “ตาม”พระธรรมนูญปกครองแผ่นดิน หรือรัฐธรรมนูญ ถือว่ามีนัยยะทางการเมืองที่สำคัญมาก (นครินทร์ เมฆไตรรัตน์, 2549)
ธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราวของคณะราษฎร ได้ลดทอนพระราชอำนาจลงไปมาก จนพระองค์เป็นเพียงสัญลักษณ์ของประเทศเท่านั้น แม้แต่การเรียกพระองค์ก็ใช้คำว่า “กษัตริย์” แทนที่จะใช้คำว่า “พระมหากษัตริย์”
ขบวนการเหล่านี้ยังคงเกาะติดและปรับตัวให้ผสมกลมกลืนกับการเปลี่ยนแปลง แฝงตัวอยู่ในโครงสร้างอำนาจ วิถีชีวิต พรรคการเมือง สถาบันการเมืองและแนวคิดประชาธิปไตยแบบสาธารณรัฐสุดโต่ง และแผลงฤทธิ์ทุกๆครั้งที่การเมืองและประเทศอ่อนแอ เหมือนเชื้อไวรัส(เริม)ที่ฝังตัวอยู่ในปมประสาท ไม่เคยหมดสิ้นไปจากสังคมไทย
หลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475 มีการรัฐประหารครั้งแรก โดยพระยามโนปกรณ์นิติธาดา(1 เม.ย.2476)และครั้งที่สอง ในวันที่ 20 มิถุนายน 2476 พันโทหลวงพิบูลสงครามได้ทำรัฐประหารล้มรัฐบาลพระยามโนปกรณ์นิติธาดา
การรัฐประหารของหลวงพิบูลสงคราม ทำให้คณะราษฎรกลับคืนสู่อำนาจอย่างมั่นคง และใช้อำนาจเบ็ดเสร็จที่ก่อให้เกิดความกดดันต่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยตรง
ที่สำคัญ เมื่อเหตุการณ์ดำเนินมาถึงคราวที่พระองค์ ต้องทรงเผชิญหน้ากับคณะราษฎรในการเรียกตัวหลวงประดิษฐ์มนูธรรมกลับจากประเทศฝรั่งเศส ซึ่งคณะรัฐมนตรีและสภาผู้แทนราษฎรต่างก็เห็นชอบให้เรียกตัวหลวงประดิษฐ์มนูธรรมกลับด้วย
พระองค์ยังทรงขัดข้อง และทรงปฏิเสธที่จะรับรองตัวหลวงประดิษฐ์มนูธรรม เนื่องจากพระองค์ยังไม่สิ้นความสงสัยว่า หลวงประดิษฐ์มนูธรรมจะไม่ใช้วิธีการเศรษฐกิจแบบ “โซเซียลิสต์อย่างแรง” ซึ่งหมายถึงวิธีการคอมมิวนิสต์แบบรัสเซีย นั่นเอง
ประเด็นนี้เองที่ ผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมืองปัจจุบัน ต่างหวั่นเกรงว่า ประวัติศาสตร์จะวนกลับมาในท่วงทำนองเดิม แม้ว่าตัวบุคคล แนวคิดและวิธีการทางเศรษฐกิจจะเปลี่ยนไปคนละทางกับอดีต
นอกจากนี้เหตุการณ์ “กบฏบวรเดช”ในปี พ.ศ.2476 ที่ทั้ง “รัฐบาล”ของคณะราษฎร ซึ่งมีพระยาพหลพลพยุหเสนา เป็นนายกรัฐมนตรี กับ “คณะกู้บ้านเมือง”ซึ่งเกิดจากการรวมตัวกันของบรรดาบุคคลที่ไม่พอใจจากการถูกปลดออกจากราชการโดยคณะราษฎรส่วนหนึ่ง กับพระบรมวงศานุวงศ์บางพระองค์ที่ต้องการกอบกู้เกียรติของความเป็นเจ้ากลับคืนมาอีก ปะทะกันอยู่นานถึง 14 วันและต่างก็พยายามช่วงชิงการสนับสนุนจากพระมหากษัตริย์ แต่ก็ไม่เป็นผลทั้งสองฝ่าย
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ตัดสินพระราชหฤทัยเสด็จโดยเรือเร็วขนาดเล็กจากหัวหินลงไปสงขลา เพื่อหลีกเลี่ยงความเข้าใจผิดว่าทรงอยู่กับฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด และขณะประทับที่สงขลา สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีฯซึ่งประทับอยู่ด้วย ทรงเล่าถึงเหตุการณ์คืนหนึ่งว่า
“คืนนั้นในหลวง ฉัน แล้วก็ ม.ร.ว.สมัครสมาน ขึ้นไปอยู่บนชั้น 3 ด้วยกัน ท่านรับสั่งว่า ถ้าจะมีเรื่องเกิดขึ้น ท่านก็จะยิงพระองค์เอง แล้วให้สมัครเป็นคนยิงฉัน ส่วนสมัครจะทำอะไรกับตัวเองหรือไม่ก็ช่าง...” (นครินทร์ เมฆไตรรัตน์, 2549)
ขณะที่เขียนบทความนี้ ยังไม่แน่ใจนักว่าสถานการณ์ของบ้านเมืองและการเมืองไทย ในห้วงเวลาต่อจากนี้ไป จะดำเนินไปอย่าง จะเกิดอะไรขึ้นบ้างในอนาคต จะวนเวียนซ้ำซากเหมือนในอดีตหรือไม่
แต่ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมากว่า 60 ปี ผมคิดว่าปวงชนชาวไทยทุกคน มีความตระหนักดีว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช มหาราช ทรงปกครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม ตามพระปฐมบรมราชโองการ พระองค์ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณอย่างใหญ่หลวงต่อปวงชนชาวไทย ทรงทำให้บ้านเมืองมีความร่มเย็น ทรงทำให้พสกนิกรทุกหมู่เหล่ามีอยู่มีกินอย่างพอเพียง ทรงทำให้ประเทศไทยมีความเป็นปึกแผ่น เป็นประเทศประชาธิปไตยที่สามารถผสมผสานหลักการใหม่ๆ และหลักคุณธรรมให้เป็นที่ยอมรับของนานาอารยประเทศ มาด้วยความเสียสละ อดทนและความรักที่ทรงมีต่อปวงชนชาวไทยทุกหมู่เหล่า
ผมมั่นใจครับว่าใครก็ตามที่เหิมเกริมเข้าพวกกัน “ก่อการร้าย” เหยียบย่ำทำลายชาติบ้านเมือง และพยายามจะล้มล้างสถาบันพระมหากษัตริย์ หรือตั้งใจจะทำให้พระองค์ต้องเสียพระราชหฤทัย จะต้องถูกปวงชนชาวไทยสาปแช่งและถูกต่อต้านอย่างถึงที่สุด ไม่มีวันได้เป็นใหญ่ในประเทศนี้แน่นอน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น