จากการสังเกตเด็กๆ ที่ เนอสเซอรี่บ้านแม่พระอุปถัมภ์ เราพบความมหัศจรรย์อย่างหนึ่งก็คือ ทุกวันเด็กๆจะรอคอยเวลาฟังนิทาน เพราะถ้าเห็นครูหยิบหนังสือเมื่อไร เด็กๆก็จะเดินตามมานั่งใกล้ๆเพื่อฟังนิทาน เรื่องราวต่างๆที่ครูจะเล่าประกอบกับการดูภาพ เด็กๆจะฟังนิทานด้วยความตั้งใจ สนใจมีสีหน้าท่าทางที่แสดงถึงอารมณ์ความรู้สึก ตื่นเต้น สนุกสนาน คล้อยตามเรื่องที่ได้ฟังอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะหนังสือนิทานที่มีเนื้อหาถูกใจ มีภาพสีสันสวยงามประกอบ เด็กๆจะเรียกร้องขอให้ครูเล่าให้ฟังซ้ำแล้วซ้ำอีก
ในแต่ละวันถ้าคุณพ่อคุณแม่มีโอกาสได้พูดคุยกับลูกรัก เล่านิทานหรืออ่านหนังสือให้ฟังอย่างสม่ำเสมอจะช่วยส่งเสริมทักษะทางภาษาของลูกรัก ช่วยเสริมสร้างสมาธิในการฟังการดู การสังเกตจินตนาการ ความคิดสร้างสรรค์ และคุณธรรมจริยธรรมซึ่งเป็นคุณลักษณะและทักษะสำคัญของการเรียนรู้ รวมทั้งส่งผลต่อพัฒนาการทั้ง 4 ด้านได้เป็นอย่างดี ในอนาคตลูกรักจะนำคำและข้อมูลภาพต่างๆที่สะสมไว้จากการเรียนรู้ การดูและการฟังมาใช้ในการพูด เล่าเรื่อง พัฒนาไปสู่การอ่านและการเขียนได้อย่างดีมากๆทีเดียว
และจากการพูดคุยกับครูเอและครูแอ๊ว คุณครูของเด็กๆบ้านแม่พระอุปถัมภ์ ทำให้เรามีเคล็ด(ไม่) ลับมาฝากคุณพ่อคุณแม่มือใหม่ ที่ต้องการเล่านิทานให้ลูกรักฟังด้วยค่ะ
& สร้างบรรยากาศที่ดีให้ลูกน้อยพร้อมที่จะฟัง เช่น ลูบท้องวนหลายๆรอบ(กรณีลูกน้อยยังอยู่ในครรภ์) โอบกอดและชูหนังสือนิทานให้ลูกน้อยดูและถามว่า...อยากฟังไหมคะ/ครับ ฯลฯ
& เวลาเล่าให้ใช้น้ำเสียง สูง ต่ำ สีหน้า ท่าทาง แสดงให้สอดคล้องกับเหตุการณ์ อารมณ์หรือลักษณะ
ของตัวละคร
& ควรสบตากับลูกรักเพื่อเรียกร้องความสนใจ การมีส่วนร่วมกับลูกรักในขณะเล่านิทาน
& เปิดโอกาสให้ลูกรักได้ซักถามหรือตอบคำถาม กระตุ้นให้ได้ตอบได้มีส่วนร่วมในการเล่านิทาน
& ให้แรงเสริมเมื่อลูกรักมีส่วนร่วมในการเล่านิทานอย่างสนุกสนาน เช่น คำชมเชย ปรบมือ
& ใช้คำถามที่ไม่มีคำตอบที่ถูกต้องตายตัว เพื่อฝึกทักษะกระบวนการคิด การแก้ปัญหาหรือเป็น
การทบทวนความจำ และสามารถเชื่อมโยงกับชีวิตประจำวันได้
& ถ้ามีเพลงหรือคำคล้องจองประกอบด้วยก็จะดีมาก เพราะการทำท่าประกอบ การเคาะ การ
เคลื่อนไหวไปพร้อมกับการฟังก็เป็นสิ่งที่ลูกรักในวัยนี้ชอบมากๆเหมือนกัน
& ใช้เวลาในการเล่าที่เหมาะสมกับความสนใจของลูกรักไม่น้อยหรือนานเกินไป ประมาณ 15-20
นาที
การเสียสละเวลาวันละ 15-20นาทีในแต่ละวันเพื่อปลูกปั้นวัฒนธรรมการเรียนรู้ ที่จะนำไปสู่วัฒนธรรมแห่งปัญญาของลูกน้อยในอนาคต ซึ่งจะช่วยให้เขาเติบโตเป็นคนดี คนมีปัญญา เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ทั้งร่างกายและจิตวิญญาณ เป็นเรื่องที่คุ้มเกินคุ้มจริงๆค่ะ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น